วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เลือกใช้พลาสติกอย่างไร

เลือกใช้พลาสติก..ลดเสี่ยงมะเร็ง (มติชน)

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมซื้ออาหารนอกบ้าน เลือกใช้ถุงพลาสติกลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง โดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ถุงพลาสติกที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบัน มีหลายชนิด ประกอบด้วย

1.ถุงร้อน ทำจากเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน (PP) ลักษณะใสมาก กระด้างกว่าถุงเย็น ไม่ยืดหยุ่น สามารถบรรจุของร้อนและอาหารที่มีไขมัน ทนความร้อนได้ถึง 100-120 องศาเซลเซียส และถุงร้อนทำจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ลักษณะบางขุ่น

2.ถุงเย็น ทำจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) ลักษณะค่อนข้างใสนิ่ม ยืดหยุ่นพอสมควร ใช้บรรจุอาหารแช่แข็ง ทนความเย็นได้ถึง 70 องศาเซลเซียส แต่ทนความร้อนได้ไม่มาก

3.ถุงหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บ ทำจากพลาสติกโพลิเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นต่ำ แต่ส่วนใหญ่มักนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำความสะอาดและหลอมใหม่ ไม่ปลอดภัยกับการบรรจุอาหารทุกชนิด เช่น กล้วยแขก ปาท่องโก๋ ฯลฯ แม้แต่จะมีกระดาษรองอีกชั้นก็ตาม เพราะสารโลหะหนักอาจละลายออกมาปนเปื้อนได้

นพ.ณรงค์ ศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ อย่าใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสีฉูดฉาดใส่อาหารและไม่นำภาชนะดังกล่าวมาใส่อาหาร ร้อน หรืออาหารที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม หรือมีไขมันในปริมาณสูง หรืออาหารที่เป็นกรด (รสเปรี้ยว) เช่น พริกดอง น้ำส้มสายชู เพราะความเป็นกรดจะกัดกร่อนภาชนะทำให้สารปรอทและตะกั่วปนเปื้อนอาหาร หากหลีกเลี่ยงได้ควรใช้ภาชนะแก้ว กระเบื้องเซรามิคแทน เลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติกอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ และไม่ควรใช้ฟิล์มยืดห่ออาหารที่มีไขมัน หรืออย่าอุ่นอาหารที่ยังห่อด้วยฟิล์มยืด เพราะสาร Plastizizers จะปนเปื้อนอาหาร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น